ประชาชนจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง เมื่อกฎหมาย PDPA ประกาศใช้
จากหลายบทความที่เราได้นำเสนอในมุมขององค์กร ในการเตรียมตัวรับมือกับกฎหมาย PDPA วันนี้ เราจะมานำเสนอในมุมของประชาชนบ้าง ว่าเมื่อกฎหมาย PDPA ถูกนำมาใช้แล้ว ประชาชนคนทั่วไปนั้น จะได้ประโยชน์จากกฎหมายข้อนี้อย่างไรบ้าง
ก่อนอื่นต้องบอกว่าจริงๆ แล้ว พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA นั้น ไม่ได้ประกาศออกมาเพื่อเป็นกฎหมายให้กับองค์กรภาครัฐ หรือเอกชนปฏิบัติตามเท่านั้น แต่หลัก ๆ แล้วออกมาเพื่อใช้คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลให้กับเหล่าประชาชนคนทั่วไปเป็นสำคัญ โดย ในพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ Personal Data Protection Act ถูกระบุในกฎหมายไว้ว่า ห้ามให้หน่วยงานที่มีข้อมูลส่วนบุคคลทั้งภาครัฐ หรือเอกชน เอาข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในกิจกรรมอื่น หากเจ้าของข้อมูลไม่ยินยอม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ได้แก่
ข้อมูลส่วนบุคคล
- ชื่อ
- ที่อยู่
- เบอร์โทรศัพท์
- รูปถ่าย
- หรือสิ่งอื่นที่สามารถบ่งบอกถึงบุคลคลนั้นๆ ได้
ข้อมูลที่จะต้องดูแลให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ
- เชื้อชาติ
- ประวัติอาชญากรรม
- ความเชื่อ
- ศาสนา
นอกจากนี้ กฎหมาย PDPA ยังครอบคลุมไปถึงข้อมูลที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหว หรือ Sensitive Personal Data ดังนั้น จากข้อมูลที่กล่าวมา ทำให้ประชาชนทั่วไปได้รับประโยชน์สำคัญดังนี้
- ช่วยให้ประชาชน เพิ่มความมั่นใจ และเชื่อมั่นว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่ให้ไป จะปลอดภัย ลดความเสี่ยงจากการถูกละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลได้
- ประชาชนมีสิทธิในการรับทราบวัตถุประสงค์ในการให้ข้อมูลจาก องค์กร หรือหน่วยงานก่อนตัดสินใจให้ข้อมูล
- ประชาชนสามารถร้องขอเข้าถึง และขอรับข้อมูลส่วนบุคคลของตนเองจากทางผู้เก็บข้อมูลได้ทุกเมื่อ
- ประชาชนมีสิทธิขอยกเลิกความยินยอมในการเก็บข้อมูล หรือ ขอยกเลิกการเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเองได้ทุกเมื่อ โดยผู้เก็บข้อมูล (Data Controller) จะต้องยอมรับ และระงับการใช้งานข้อมูลดังกล่าวตามความต้องการของเจ้าของข้อมูล
สุดท้ายนี้ ถ้าหน่วยงานกาครัฐ และภาคเอกชน ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA อย่างถูกต้องเหมาะสมแล้ว นอกจากจะได้รับความน่าเชื่อถือมากขึ้นแล้วนั้น ประชาชนคนทั่วไปที่ให้ข้อมูลย่อมอุ่นใจว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่ให้ไปนั้น จะปลอดภัยจากการถูกละเมิด ได้อีกด้วย