Information Warfare (IW) and Information Operation (IO): Part II
จากบทความในฉบับที่แล้ว การปฏิบัติต่างๆ ที่ใช้ในการปฏิบัติการข่าวสาร (IOs) หรือ “ขีดความสามารถ” นั้น ได้ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มคือ 1. การปฏิบัติหลัก หรือ ขีดความสามารถหลัก (Core Capabilities) 2. การปฏิบัติสนับสนุน หรือ ขีดความสามารถในการสนับสนุน (Supporting Capabilities) 3. การปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง หรือ ขีดความสามารถที่เกี่ยวข้อง (Related Capabilities) เราได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับหัวใจ “IO” ทั้ง 5 ประการแล้ว ยังมีส่วนของการปฏิบัติการสนับสนุน และ การปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
2. การปฏิบัติสนับสนุน หรือ ขีดความสามารถในการสนับสนุน (IO Supporting Capabilities)
หัวใจหลักของการปฏิบัติการสนับสนุนได้แก่ Information Assurance (IA), Physical Security, Physical Attack, CI และ COMCAM ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
Information Assurance (IA)
มีวัตถุประสงค์ในการป้องกัน (Protect) และปกป้องคุ้มครอง (Defend) สารสนเทศ (Information) และ ระบบสารสนเทศ (Information System) ของฝ่ายเราให้ปลอดภัย เพื่อให้แน่ใจได้ว่าเราสามารถ รักษาคุณสมบัติทั้ง 3 ประการ ด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศได้แก่ การรักษาความลับ (Confidentially=C) การรักษาความถูกต้องสมบูรณ์ (Integrity=I) การรักษาความพร้อมใช้ของสารสนเทศเมื่อต้องการเข้าถึง (Availability=A) รวมทั้งการพิสูจน์ตัวตน (Authentication) และ การห้ามปฏิเสธความรับผิดชอบในการทำธุรกรรม (Non-Repudiation) จะเห็นได้ว่า “IA” ไม่ได้ครอบคลุมเฉพาะ “CIA” และยังครอบคลุมถึง Authentication และ Non-Repudiation อีกด้วย โดย IA ใช้หลักการ Defense-In-Depth หรือ Multi-Layer Defense ในการป้องกันทั้งด้านบุคลากร (People) ด้านกระบวนการการปฏิบัติการ (Process) และ ด้านเทคโนโลยี (Technology) ในการเข้าถึงสารสนเทศ จำเป็นต้องมีระบบควบคุมป้องกันการเข้าถึงที่ดี (Access Control)
การปฏิบัติการสารสนเทศ (IO) จำเป็นต้องมี IA เป็นตัวช่วยเสริมซึ่งกัน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมองให้ครบทั้งสองด้านทั้ง IA และ IO
Physical Security
การรักษาความปลอดภัยทางกายภาพเป็นเรื่องสำคัญที่จำเป็นในการป้องกันการโจมตีบุคลากรและทรัพย์สินของฝ่ายเรา และเป็นการป้องกันการเข้าถึงอุปกรณ์และเอกสารต่าง ๆ ของฝ่ายเราเพื่อให้รอดพ้นจากการ จารกรรม, การขโมย และการทำลายล้าง การป้องกันด้านกายภาพจะเน้นไปที่การป้องกันที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ (Physical Facilities) การป้องกันอาคารสถานที่ต่าง ๆ โดยจะไม่อนุญาตให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้ามาในบริเวณที่ทางฝ่ายเราได้จำกัดการเข้าถึงในทางกายภาพ
Physical Attack (Physical Destruction)
เน้นไปที่การทำลายล้างเป้าหมายเชิงกายภาพของฝ่ายตรงข้ามเพื่อไม่ให้สามารถบัญชาการรบได้อย่างมีประสิทธิภาพ การทำลายและโจมตีเป้าหมายทางกายภาพนั้นสามารถปฏิบัติการร่วมกันกับ “PSYOP” หรือ “การปฏิบัติการจิตวิทยา” ได้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการโจมตี ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
Counter Intelligence (CI)
“การต่อต้านข่าวกรอง” เป็นการรวบรวมข้อมูลข่าวสารเพื่อป้องกันการจารกรรมข้อมูลและสารสนเทศของฝ่ายเรา จากแฮกเกอร์ของฝ่ายตรงข้าม ในปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศ ได้ว่าจ้างแฮกเกอร์ในประเทศของตนอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เป็นหน่วยรบใต้ดินที่มีวัตถุประสงค์ในการเจาะระบบของรัฐบาลในประเทศฝ่ายตรงข้าม โดย CI สามารถปฏิบัติการร่วมกับ “OPSEC” ได้อย่างกลมกลืน และ จำเป็นต้องใช้ CNO “Computer Network Operation” ในการป้องกันระบบสารสนเทศของฝ่ายเราและโจมตีฝ่ายตรงข้ามในขณะเดียวกัน
Combat Camera (COMCAM)
กล้องถ่ายภาพการรบเป็นส่วนสนับสนุนที่มีความสำคัญในการปฏิบัติการสารสนเทศเช่นกันกล่าวคือ ภาพถ่ายจากกล้องสามารถนำไปสนับสนุนการทำ “PSYOP” และ “MILDEC” ได้ด้วย เพราะถ้าหากถูกฝ่ายตรงข้ามเจาะข้อมูลภาพถ่ายก็จะตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบทันที
3. การปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง หรือ ขีดความสามารถที่เกี่ยวข้อง (IO Related Capabilities) ประกอบไปด้วย 3 เรื่อง ได้แก่
- PA (Public Affair) การประชาสัมพันธ์
- CMO(Civil Military Operation) การปฏิบัติการร่วมกันระหว่างทหารและพลเรือน
- DSPD (Defense Support to Public Diplomacy) กลาโหมสนับสนุนต่อการทูตสาธารณะ
Public Affairs (PA)
เป็นการประชาสัมพันธ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีต่อภาพลักษณ์ของฝ่ายเรา ตามหลักการ “Principle of Public Information” ดูรูปที่ 1
Civil Military Operations (CMO)
เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างทหารและพลเรือนสามารถทำได้ในช่วงเวลาสงบที่ไม่มีสงคราม (Peace) ทั้งก่อน และหลังสงคราม (ดูรูปที่ 2) เป็นการสนับสนุนทั้ง PSYOP, CNO และ CI เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ปรองดองสมานฉันท์ พึ่งพาอาศัยกัน เพื่อให้มีเอกภาพในการอยู่ร่วมกัน และสร้างแนวคิดให้สนับสนุน การปฏิบัติการสารสนเทศในระยะยาว
DSPD (Defense Support to Public Diplomacy)
เป็นการสนับสนุนในการทำ “PSYOP” ต่อรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ทางด้านการทูต โดยทางกระทรวงกลาโหม ต้องปฏิบัติการร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเสริมสร้าง ภาพลักษณ์ที่ดีและการได้รับการสนับสนุนจากนานาประเทศ
บทความที่เกี่ยวข้องกัน
กรณีศึกษา นปช. และ ศอฉ.ในเรื่อง Information Operations (IO)