LINUX Certification มาตรฐานใหม่สำหรับวงการ Open source วันนี้
by A.Pinya Hom-anek, CISSP
ขณะนี้เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า ระบบปฏิบัติการ LINUX รวมถึงโปรแกรมต่างๆที่ทำงานบน LINUX ในลักษณะ Open source นั้น ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้จากงาน LINUX Application Day ที่ NECTEC ได้จัดขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานั้น มีผู้เข้าร่วมงานราวสองถึงสามพันคน
นั่นแสดงให้เห็นถึงความสนใจของคนไอทีในประเทศไทยกับ Open source และ LINUX มากเกินความคาดหมาย ในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกมีการปรับตัว หันมาใช้บริการ Open source กันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเทศในแถบยุโรป เช่น เยอรมัน ฝรั่งเศส ในเอเชีย ได้แก่ ประเทศจีน เป็นหลัก ตามมาด้วยมาเลเซีย ที่กระทรวงศึกษาฯ ของมาเลเซีย ได้ประกาศรับการใช้เทคโนโลยี Open source
ในสถานศึกษาทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ตามแผน ICT ซึ่งประเทศไทยเราก็มีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน โดย NECTEC เป็นผู้นำที่ให้การสนับสนุน LINUX อย่างต่อเนื่องดังที่เราได้ติดตามข่าวสารกันอยู่แล้ว ในประเทศสิงคโปร์มีโปรแกรมที่เรียกว่า CITREP (Critical Infocomm Technology Resource Programme) ของหน่วยงานรัฐบาล IDA และ NICC (www.ida.gov.sg , www.nicc.org.sg) ซึ่งช่วยออกค่าใช้จ่ายในการเรียน Red Hat LINUX ให้ถึง 70% (สำหรับผู้ที่สอบผ่าน Certified แล้วเท่านั้นจึงจะได้รับสิทธิ์)
จากความนิยม LINUX ที่เพิ่มมากขึ้นทั้งภาครัฐและเอกชน ทำให้มีความต้องการคนไอทีที่มีความสามารถในการติดตั้ง แก้ปัญหา และดูแล ทั้ง Workstation และ Server ที่ทำงานด้วย LINUX
เราทราบกันดีว่า LINUX นั้นเป็นของฟรีที่เราสามารถหามาติดตั้งได้โดยง่ายแต่หลังจากติดตั้งไปแล้ว ก็ต้องมีการดูแล (Administration & Maintenance) เหมือนกับระบบปฏิบัติการอื่นๆเช่นกัน ดังนั้น ความต้องการบุคลากรที่จะต้องมารับผิดชอบระบบที่ทำงานด้วย LINUX นั้นจึงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทุกมุมโลก
ตลาดไอทีทั่วโลกส่วนใหญ่ต้องการคนที่ได้รับ Certification ไม่ว่าจะเป็น MCSE, CCNA, CCIE หรือ CISSP เป็นต้น จำนวนผู้ที่ได้รับการ Certified ด้านระบบปฏิบัติการ LINUX นั้น ยังมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับระบบปฏิบัติการอย่าง Windows ของ Microsoft จึงทำให้ LINUX Certification กลายเป็น Certification ที่น่าจับตามองและคุ้มค่าที่จะลงทุนลงแรงศึกษากันอย่างจริงจัง การได้รับ LINUX Certification นั้นเราต้องมีความรู้ UNIX ในระดับหนึ่ง และมีทักษะในการจัดการกับ Services ต่างๆที่ทำงานบน LINUX เช่น DHCP, DNS, Apache Web Server, Sendmail Server เป็นต้น
ขณะนี้ LINUX Certification ในภาพรวมมีทั้งหมด 4 ค่าย ได้แก่ CompTIA, LPI (Linux Professional Institute), SAIR (Software Architecture Implementation and Realization) และ RED HAT ทั้ง 4 ค่ายล้วนมีความแตกต่างกัน โดยมีรายละเอียดแต่ละค่ายดังนี้
1) CompTIA: LINUX+ Certification
CompTIA นั้นเป็นที่รู้จักกันดีในวงการว่า Certification ที่ CompTIA ออกให้กับผู้ที่สอบผ่านนั้น จะไม่ขึ้นอยู่กับ Vendor รายใดรายหนึ่ง เรียกว่าเป็น “Vendor-neutral Certification” เช่น Network+ หรือ A+ Certification LINUX+ ก็เช่นกัน เป็น Certification ที่ไม่ผูกกับ LINUX Distribution ค่ายใดค่ายหนึ่งโดยเฉพาะ ความยากของ LINUX+ นั้นอยู่ในระดับ Entry-level กล่าวคือจะไม่ยากมากนักเมื่อเทียบกับ LINUX Certification ของค่ายอื่นๆ การสอบนั้นสามารถสมัครสอบได้ที่ ศูนย์สอบของ Prometric และ VUE ในลักษณะ Multiple-choice และไม่มีการสอบทำ LAB
2) LPI: Level I, II, III LPI Certification
LINUX Professional Institute เป็นองค์กรแบบ non-profit ที่มีการจัดสอบวัดความรู้ความสามารถของ System Administration และ System Engineer ที่ทำงานในสภาวะแวดล้อมที่ใช้ LINUX เป็นหลัก ผู้สอบต้องสอบผ่าน Level I ก่อน ซึ่งเป็นระบบ LINUX Certified Administrator (สอบ 2 วิชา) จากนั้นก็สอบต่อในระดับ Level II เป็น LINUX Certified Engineer (สอบ 2 วิชาเช่นกัน) ส่วนใน Level III ข้อสอบยังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ผู้สอบสามารถสมัครสอบผ่านศูนย์สอบ Prometric หรือ VUE เช่นเดียวกับ LINUX+
3) SAIR LINUX/GNU: LCP/ LCA/ LCE/ MLCE Certification
SAIR INC. ก่อตั้งเมื่อปี 1992 ในรูปของบริษัท Software Development จากนั้นถูก Take Over โดย Wave Technologies และ ในที่สุดขณะนี้เป็นของบริษัท Thompson Learning (บริษัทแม่ของบริษัท Prometric) SAIR มี Certified ทั้งหมด 3 ระดับได้แก่ ระดับแรกคือ LINUX and GNU Certified Administrator (LCA) เป็นพื้นฐาน จากนั้นต่อด้วย LINUX and GNU Certified Engineer (LCE) เป็นระดับที่สอง และระดับที่สามได้แก่ Master LINUX and GNU Certified Engineer (MLCE) ถือเป็นระดับสูงสุดที่ค่อนข้างยากพอสมควร ถ้าผู้สอบผ่าน Exam แรกใน LCA Track ก็จะได้รับ Certification เป็น LINUX/ GNU Certification (LCP) ขณะนี้มีผู้ที่ Certified SAIR แล้วจำนวนมากกว่า 2,400 คน จากทั่วโลก การสอบสามารถสอบได้ที่ศูนย์สอบของ Prometric หรือ VUE เช่นกัน
4) RED HAT: RHCE (Red Hat Certified Engineer) Certification
RHCE นั้น ต้องสอบโดยตรงกับตัวแทนของ Red Hat ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ เพราะต้องมีการสอบ LAB พร้อมกับการสอบข้อเขียนด้วย (สอบข้อเขียน 1 ชั่วโมง และ LAB อีก 5 ชั่วโมง โดยทาง Red Hat จะออกโจทย์มาให้เราติดตั้ง Server และ Network Services รวมทั้งการแก้ปัญหาต่างๆที่เรามักจะพบในการใช้งานจริง) ถือได้ว่าเป็น Certified เพียงค่ายเดียวที่มีการสอบทำ LAB จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องปฏิบัติงานจริง แต่ข้อเสียก็คือมีค่าใช้จ่ายในการสอบที่ค่อนข้างสูงและสถานที่สอบก็ค่อนข้างจำกัด เพราะไม่สามารถสอบผ่าน Prometric หรือ VUE ได้เหมือนกับอีก 3 ค่าย ที่ได้กล่าวมาในตอนต้น Exam จะเน้นไปที่ตัว Red Hat เป็นหลัก แต่ LINUX Certification จากค่ายอื่นจะไม่ยึดติดกับตัว Red Hat ขณะที่มีผู้สอบผ่านเป็น RHCE ทั่วโลกมากกว่า 5,000 คน
สรุปได้ว่ามี LINUX Certification ให้เลือกสอบถึง 4 ค่ายด้วยกัน การเลือกนั้นก็คงต้องดูที่จุดประสงค์ของเราเป็นหลักเช่นถ้าเราใช้ LINUX Red Hat อยู่ และมีงบประมาณระดับหนึ่ง RHCE เป็น Certification ที่น่าสนใจแต่ถ้าเรามีงบค่อนข้างจำกัด และไม่อยากสอบ LAB รวมทั้งต้องการความสะดวกเรื่องสถานที่สอบ ก็ควรเลือกสอบตัวอื่น อาจจะเริ่มจาก LINUX+ ก่อนก็จะไม่ยากจนเกินไปนัก การวัดความรู้และทักษะการใช้งาน LINUX ตอนนี้เราอาจจะยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญเท่าไร เพราะส่วนใหญ่เราใช้ Windows เป็นหลัก หรือ UNIX ค่ายอื่นเช่น Sun Solaris หรือ IBM AIX แต่กระแสความต้องการใช้งาน Open Source นั้น มีความต่อเนื่องและเพิ่มขึ้นทุกวันทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย ดังนั้นเราจึงควรให้ความสำคัญกับ LINUX Certificationเพราะ Open Source นั้นเป็น “ทางเลือก” ให้กับเราในสภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ เราอาจนำ LINUX มาใช้งานร่วมกับ Microsoft Windows หรือ UNIX ค่ายอื่น นับว่าเป็นความคิดริเริ่มที่ดี ซึ่งในตอนนี้โปรแกรมประเภท RDBMS ไม่ว่าจะเป็น Oracle หรือ DB2 ก็ล้วนมีการ Port มาทำงานบน LINUX กันหมดแล้ว
ส่วน Apache Web Server นั้น ไม่ต้องพูดถึงเพราะเป็น Web Server ที่ครองตลาดมากที่สุดในโลกอยู่แล้ว บริการต่างๆใน Internet ก็สามารถใช้ Service ต่างๆที่ทำงานบน LINUX ได้แทบทั้งหมด System Administrator และ System Engineer ที่เคยใช้งาน Windows มาก่อน ควรที่จะหันมาให้ความสนใจกับ “LINUX Certification” กันบ้างนะครับ เพราะจะทำให้ประเทศไทยของเรามีคนไอทีที่มีทักษะ (skill) ในการทำงานกับระบบ Open Source อย่าง LINUX มากขึ้นเพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศโดยรวมต่อไปครับ
จาก : หนังสือ eLeader Thailand
ปีที่14 ฉบับที่164 ประจำเดือน ตุลาคม 2545
Update Information : 21 ตุลาคม 2545