กรณีศึกษา นปช. และ ศอฉ.ในเรื่อง Information Operations (IO)
ข้อสังเกต : ผู้เขียนมีความเป็นกลาง และ ไม่ต้องการโจมตีใคร ทั้ง นปช. และ ศอฉ. มีวัตถุประสงค์ต้องการเพื่อให้เป็นตัวอย่างในการทำความเข้าใจเรื่อง IO เท่านั้น
จากตัวอย่างสงครามระหว่างอิรัก และ สหรัฐอเมริกา จากผลของ “CNN effect” จะเห็นได้ว่า การใช้สื่อมีความสำคัญเปรียบเทียบเท่าการใช้อาวุธในการโจมตีฝ่ายตรงข้าม อาจกล่าวได้ว่า “การปฏิบัติการข่าวสารเป็นอาวุธร้ายที่เราไม่ควรมองข้าม” และ ข่าวสารเปรียบเสมือนกระสุนที่พุ่งออกจากปืนของสื่อเข้าไปเจาะทะลวงจิตใจ และความคิดของผู้รับข่าวสารนั้น ๆ มีผลกระทบต่อกระบวนการในการตัดสินใจของผู้รับข่าวสาร เพื่อให้เป็นไปตามความต้องการที่แอบแฝงของแต่ละฝ่าย
ทั้ง นปช. และ ศอฉ. ล้วนใช้ “IO” ในการโจมตีฝ่ายตรงข้าม เพื่อให้มวลชนคล้อยตามฝั่งของตน ตามหลักการ “IO” ทางรัฐบาลเน้นว่ามีผู้ก่อการร้ายอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม และออกมาสังหารทหาร เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ขณะเดียวกัน ทาง นปช. ก็กล่าวว่าทหารฆ่าประชาชน เช่น ปัญหาผู้เสียชีวิตในวัดปทุมที่สื่อนำรูปทหารยิงปืนหันไปทางวัดมาขึ้นปกนิตยสารในหลายฉบับ เป็นตัวอย่างของการปฏิบัติการจิตวิทยา (PSYOP) ซึ่งเป็นส่วนหลักของ “IO”
ในส่วนของการลวงทางทหาร (MILDEC) ยกตัวอย่าง เรื่องการปล่อยข่าวบนเวที นปช. ว่าจะปิดถนนสีลมในวันรุ่งขึ้น ทางฝ่ายรัฐบาลก็ส่งทหารเข้ามาปิดบริเวณสีลมในทันทีที่ทราบข่าว ซึ่งสีลมเลยกลายเป็นบริเวณที่ถูกปิดโดยรัฐบาลไม่ใช่ฝ่าย นปช. การที่ฝ่าย นปช. สามารถเคลื่อนกำลังเข้ายึดแยกราชประสงค์อย่างที่รัฐไม่ทันตั้งตัวนั้นถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติการที่สามารถรักษาความปลอดภัยของฝั่งตนไว้ได้เข้ากรณีของ “OPSEC” ซึ่งการรักษาความปลอดภัยในการปฏิบัติการนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญเพื่อไม่ให้ข่าวรั่วก่อนการปฏิบัติการ ซึ่งในช่วงหลัง ศอฉ. ก็มีความรัดกุมในการปฎิบัติการมากขึ้น
สำหรับตัวอย่างของสงครามอิเล็กโทรนิคส์ (EW) ก็คือ การปิดสัญญาณดาวเทียมของ People Channel ไม่ให้สามารถถ่ายทอดผ่านดาวเทียมได้ แต่ก็ยังมีหลุดลอดผ่านวิทยุชุมชน และ ผ่านทางสถานีส่งคลื่นความถี่ต่ำในบริเวณกรุงเทพมหานครเพื่อการถ่ายทอดสดจากเวที ของ นปช. ที่แยกราชประสงค์
สงครามข่าวสารที่รัฐบาลต้องกลับมาทบทวนผลการการปฏิบัติงานก็คือ “การปฏิบัติการของระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์” หรือ “CNO” ซึ่งเป็นสงครามไซเบอร์ หรือ สงครามบนระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งทางนปช. ถือว่าทำได้สำเร็จผลในระดับหนึ่ง มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางอินเทอร์เน็ตอย่างเต็มรูปแบบ เช่น Media Streaming (Flash Media Server) และ Cloud Computing ของ Google และ Microsoft (Google Appspot/App Engine และ Microsoft Horizon) และ การถ่ายทอดสดผ่านทาง Peer-To-Peer Broadcasting Software จะเห็นว่าการปิดกั้นเว็บไซต์ของกระทรวง ICT นั้นได้ผลเพียงระดับหนึ่งไม่สามารถปิดกั้นข่าวสารของทาง นปช. ได้ทั้งหมด 100%
จากองค์ความรู้ดังกล่าวจะเห็นว่าเรื่อง “สงครามสารสนเทศ” โดยการใช้หลัก “การปฏิบัติการสารสนเทศ” นั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติ ในระดับที่นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญและจัดตั้งหน่วยงานด้าน “National Cyber Security” ขึ้นอย่างเป็นทางการ เพื่อการกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบายและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของชาติในยุคที่สมรภูมิรบไม่ได้อยู่เฉพาะบนบก , ในน้ำหรือบนอากาศอีกต่อไป แต่สมรภูมิรบนั้นอยู่ใน “Cyberspace” หรือ “Cyber Domain” ที่ผู้นำแต่ละประเทศจะมองข้ามเรื่องนี้ไม่ได้เป็นอันขาด หากไม่เน้นจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติในระยะยาวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เรื่อง “IO” เป็นศาสตร์และศิลป์ (Science and Art) ที่จำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้อย่างเป็นระบบตามหลักวิชาการเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนา “Nation Cyber Security” ของประเทศไทยในอนาคต
บทความที่เกี่ยวข้องกัน