ความมั่นคงปลอดภัยระบบคลาวด์ ( Cloud Security )
ปัจจุบันการนำระบบ Cloud เข้ามาใช้ในการบริหารทรัพยากรสารสนเทศ เช่น การจัดเก็บข้อมูลทางออนไลน์เพื่อลดขั้นตอนยุ่งยากในการติดตั้งระบบแบบเดิม (on-premises) และเพื่อลดต้นทุนของระบบเครือข่ายเป็นที่นิยมสูงในองค์กร โดยการบริหารจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยระบบคลาวด์ (Cloud Security) เป็นเรื่องสำคัญที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับความมั่นคงปลอดภัยขององค์กรและผู้ใช้งาน การทำความเข้าใจในองค์ความรู้แนวคิดด้านความมั่นคงปลอดภัยสำหรับระบบเสมือนและระบบคลาวด์ และความเข้าใจโซลูชัน ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ในระบบคลาวด์ เป็นปัจจัยสำคัญของผู้เชี่ยวชาญที่มีหน้าที่ช่วยรักษาความปลอดภัยจากการโจมตีทางไซเบอร์ เพื่อให้องค์กรและผู้ใช้งานสามารถใช้งานระบบ Cloud ได้อย่างมั่นคงปลอดภัย.
ประเภทของระบบคลาวด์.
คลาวด์ส่วนตัว (Private Cloud)คลาวด์ส่วนตัว (Private Cloud) เป็นรูปแบบการให้บริการคลาวด์สำหรับหนึ่งองค์กรที่อาจประกอบด้วยหลายหน่วยธุรกิจ ซึ่งอาจมีการบริหารจัดการระบบคลาวด์นี้ด้วยองค์กรเอง หรือมีหน่วยงานภายนอกทำหน้าที่ในการบริหารจัดการให้ โดยระบบคลาวด์นั้นอาจติดตั้งภายในองค์กร หรือ ภายนอกองค์กรก็ได้ Private Cloud บางครั้งอาจถูกเรียกว่า internal หรือ organizational cloud.
ประโยชน์ของ Private cloud ได้แก่ องค์กรสามารถควบคุมระบบ ข้อมูล และแอปพลิเคชันด้วยตนเองได้ ทำให้มั่นใจได้ว่าการจัดเก็บข้อมูลจะสอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง.
Private cloud นิยมใช้ในองค์กรที่มีขนาดใหญ่ มีโครงสร้างองค์กรที่ซับซ้อน และมีระบบที่อาจเป็นระบบ legacy หรือระบบที่มีการพัฒนาขึ้นใช้โดยเฉพาะ.
คลาวด์สาธารณะ (Public Cloud)คลาวด์สาธารณะ (Public Cloud) เป็นรูปแบบการให้บริการคลาวด์ สำหรับการใช้งานแบบ open use โดยอาจมีการบริหารจัดการระบบคลาวด์นี้ด้วย บริษัท องค์กร สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ หรือหลายหน่วยงานร่วมกัน ระบบคลาวด์รูปแบบนี้จะติดตั้งอยู่ที่ผู้ให้บริการทั้งหมด.
ประโยชน์ของ Public cloud ได้แก่ การใช้งานที่ง่ายและราคาถูก เนื่องจากผู้ให้บริการจะเป็นผู้จัดเตรียมฮาร์ดแวร์และระบบเครือข่ายที่จำเป็นต่อการเข้าถึงทั้งหมด สามารถขยายหรือลดปริมาณการใช้งานได้ตามต้องการ โดยจ่ายค่าบริการเฉพาะส่วนที่ใช้.
เนื่องจากความต้องการใช้งาน Public cloud ในปัจจุบันมีมากขึ้น จึงมีผู้ให้บริการรายใหญ่หลายรายให้บริการคลาวด์ในรูปแบบนี้ เช่น Amazon, Microsoft, Salesforce, Google .
คลาวด์ระหว่างองค์กร (Community Cloud)
คลาวด์ระหว่างองค์กร (Community Cloud) เป็นรูปแบบการให้บริการคลาวด์ โดยกลุ่มของผู้ใช้บริการกลุ่มหนึ่ง ซึ่งมีรูปแบบธุรกิจหรือเป้าหมายหรือข้อจำกัดทางกฎหมายเดียวกัน การบริหารจัดการ Community Cloud สามารถดำเนินการโดยองค์กรเพียงองค์กรเดียว หรือ หลายองค์กรใน Community หรือหน่วยงานภายนอก หรือ หน่วยงานทั้งหมดที่กล่าวมาในข้างต้นได้ ส่วนการใช้งาน Community Cloud จะถูกจำกัดเพียงองค์กรที่อยู่ใน Community เท่านั้น.
การผสมผสานรูปแบบคลาวด์ (Hybrid Cloud)
การผสมผสานรูปแบบคลาวด์ (Hybrid Cloud) เป็นรูปแบบการให้บริการคลาวด์ที่ประกอบขึ้นจากบริการคลาว์มากกว่าสองรูปแบบขึ้นไป (Private, Public, Community) .
Hybrid Cloud ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เพราะองค์กรยังคงสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมของระบบได้ และสามารถใช้งาน public cloud ได้ในกรณีที่มี workload สูงขึ้น ซึ่งจะมีความยืดหยุ่นต่อการใช้งาน สามารถเพิ่มลดทรัพยากรได้ตามความต้องการ และประหยัดค่าใช้จ่าย.
ปัจจุบัน เทคโนโลยี Clound Computing และเทคโนโลยีเวอร์ชวลไลเซชั่น ได้นำมาซึ่งภัยคุกคามประเภทใหม่ ผู้ใช้บริการควรมีการพิจารณาความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี และกำหนดแนวทางในการป้องกันและรับมือกับความเสี่ยงดังกล่าวอย่างเหมาะสม